แฮมสเตอร์ กับเรื่องน่ารู้ก่อนนำเจ้าหนูตัวเล็กมาเลี้ยง

แฮมสเตอร์ กับเรื่องน่ารู้ก่อนนำเจ้าหนูตัวเล็กมาเลี้ยง

เห็นหนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่ตัวเล็ก ขนปุกปุยแบบนี้ แต่กลับเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย ถูกพบครั้งแรกที่ทะเลทรายซีเรียน ซึ่งเหตุผลที่เจ้าตัวเล็กได้ชื่อว่าแฮมสเตอร์ก็เพราะ คำว่า “แฮมสเตอร์” เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า กระพุ้งแก้ม มาจากนิสัยของหนูแฮมสเตอร์ที่ชอบเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มนั่นเอง

ลักษณะนิสัยของหนูแฮมสเตอร์

  • การกิน: หนูแฮมสเตอร์มักจะเก็บอาหารไว้ในกระพุ้งแก้ม นอกจากนี้กระพุ้งแก้มสำหรับแม่หนูแฮมสเตอร์ ยังเป็นที่เก็บลูก ๆ เมื่อรู้สึกถึงอันตราย รวมไปถึงหากอากาศร้อน หนูแฮมสเตอร์จะกินอาหารน้อยลง เนื่องจากมันคิดว่าไม่จำเป็นต้องสะสมไขมันในร่างกาย
  • การนอน: หนูแฮมสเตอร์จะใช้เวลากลางวันในการนอน และตื่นมาทำกิจกรรมในตอนกลางคืน เนื่องจากตามธรรมชาติ หนูแฮมสเตอร์อาศัยอยู่ในโพรงดินกลางทะเลทรายที่มีอากาศร้อนตอนกลางวัน และออกหาอาหารตอนกลางคืน
  • การออกกำลังกาย: หนูแฮมสเตอร์ใช้เวลาเยอะไปกับวิ่งการออกกำลังกาย สามารถวิ่งได้ถึง 30 ไมล์ต่อคืน หากหนูแฮมสเตอร์ไม่ได้วิ่งหรือออกกำลังกาย จะทำให้มีผลต่อสุขภาพได้
  • การมองเห็น: หนูแฮมสเตอร์สายตาไม่ดี สามารถมองเห็นได้ไกล ๆ แต่ไม่ชัด และมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ จึงอาศัยการฟังและการดมกลิ่นเป็นตัวช่วยในการดำเนินชีวิตแทน
  • การกัดแทะ: แน่นอนว่านิสัยกัดแทะ เป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ชนิดนี้ โดยฟันของหนูแฮมสเตอร์จะยาวขึ้นเรื่อย ๆ หากหนูแฮมสเตอร์ไม่ได้กัดแทะหรือลับฟันให้สั้น จะทำให้ปากได้รับบาดเจ็บได้

การเลือกซื้อแฮมสเตอร์

  • เช็กบริเวณทรายรองกรง ไม่ควรเปียก และต้องสะอาด
  • จับหนูแฮมสเตอร์ที่ชอบขึ้นมาสำรวจ โดยรูปร่างของเจ้าหนูไม่ควรอ้วนหรือผอมเกินไป ขนฟู นุ่ม ดูสะอาด และไม่มีบริเวณที่ขนหลุด
  • เช็กบริเวณหู ตา จมูก จะต้องสะอาด ขนรอบตา และจมูกต้องไม่หลุดร่วง หรือไม่ถูกย้อมสี
  • เช็กฟัน ไม่ควรยาวเกินไป ควรมีฟันที่ขนาดพอดีกับปาก ในขณะเดียวกันให้เช็กขนบริเวณคางต้องไปเปียกชื้นเกินไป
  • เช็กจังหวะ และเสียงหายใจ ควรเงียบสงบ ไม่ควรมีเสียงฟึดฟัด หรือเสียงหายใจติดขัด
  • หลังจากนั้นให้วางหนูลง และสังเกตการเคลื่อนตัว ต้องดูตื่นตัว ไม่เชื่องช้าหรือดูอ่อนแอ

เลี้ยงหนูแฮมเตอร์ ต้องมีอะไรบ้าง

เลี้ยงหนูแฮมสเตอร์
  • กรงเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์: เป็นกรงแบบซี่ลวด ตู้กระจกแบบตู้ปลา หรือตู้อะคริลิคก็ได้
  • จักรออกกำลังกาย: เลือกขนาดให้เหมาะกับสายพันธุ์
  • ถ้วยอาหาร: แนะนำเป็นถ้วยเซรามิกขนาดเล็ก
  • ขวดน้ำดื่ม: พร้อมน้ำสะอาด ควรเปลี่ยน 3 – 4 วันครั้ง
  • ห้องน้ำหนูแฮมสเตอร์: สำหรับใส่ทรายเพื่อให้หนูแฮมสเตอร์คลุกตัวทำความสะอาด
  • ทรายอาบน้ำ: เป็นทรายละเอียด ไม่ควรใช้ทรายสี เพราะจะทำให้เข้าตาและเกิดอาการแพ้ได้
  • ที่รองกรง: มีทั้งแบบก้านปอ ทิชชู และทรายอนามัย
  • ถ้วยดินเผา: สำหรับเมืองไทยที่อากาศร้อน ควรมีถ้วยดินเผาจะช่วยให้หนูแฮมสเตอร์นอนกลางวันแบบไม่ร้อนเกินไป
  • ไม้ลับฟัน หรือลูกสน: เพื่อให้หนูแฮมสเตอร์ได้ลับฟันให้สั้นและคมตามธรรมชาติ
  • บ้านหนูแฮมสเตอร์: เพื่อไว้เป็นที่หลบ และเอาไว้นอน